ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก่อนที่ไทยจะเสียกรุงครั้งที่ 2 ในแผ่นดินสมเด็จ พระเจ้าเอกทัศน์เนเมียวสีหบดี แม่ทัพของพม่าได้ยกทัพเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ได้สั่งให้ทหารพม่าออกปล้นทรัพย์สินเงินทองและเสบียงอาหารจากชาวบ้าน หญิงสาวชาวบ้านถูกทหารพม่าข่มเหงรังแก คนไทยเดือดร้อน และเจ็บแค้นมากจึงชักชวนชาวบ้านให้ต่อสู้กับพม่า มีหัวหน้าคนไทย 6 คน คือ นายแท่น นายโชตินายอิน นายเมือง นายดอก นายทองแก้ว ได้ออกอุบายหลอกลวงพม่าไปฆ่าตายหลายครั้ง จากนั้นพากันหลบหนีไปหา พระอาจารย์ธรรมโชติ ที่วัดเขาบางนางบวช เมืองสุพรรณบุรี ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านบางระจันในวิชาอาคมของท่านพระอาจารย์โชติได้แจกผ้าประเจียดลงยันต์คาถาอาคมแก่ชายฉกรรจ์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจมีชาวบ้านที่กล้าหาญติดตามมาอยู่ด้วยประมาณ 400 คน มีบุคคลสำคัญที่เป็นหัวหน้า เพิ่มขึ้นอีก 5 คน คือ
ขุนสรรค์ นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่และพันเรือง ช่วยกันตั้งค่ายบางระจัน ขึ้นต่อสู้และขัดขวางการรุกรานของพม่า เนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าทราบว่าชาวบ้านบางระจันซ่องสุมผู้คนเตรียมอาวุธไว้ พร้อมมือและคอยดักทำร้ายทหารพม่าอยู่เนือง ๆ จึงคิดที่จะกำจัดชาวบ้านบางระจันให้สิ้นด้วยเกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นอุปสรรคต่อการยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่เนเมียวสีหบดี ประมาทฝีมือคนไทยด้วยเห็นว่าเป็นชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ คงจะไม่มีพิษสงมากนักจึงส่งทหารจำนวนไม่มากนักออกไปปราบปราม แต่ทุกครั้งทหารพม่าถูกคนไทย ฆ่าตายเสียเกือบหมด รวมแล้วพม่าส่งทหารเข้ามาปราบถึง 7 ครั้ง จนครั้งที่ 8 จึงสามารถเอาชนะได้
ครั้งที่ 1 งาจุนหวุ่น เป็นหัวหน้าคุมกำลังทหารไป 500 คน แต่ถูกชาวบ้านบางระจันโจมตีจนทหารพม่าบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
ครั้งที่ 2 เยกิหวุ่น เป็นหัวหน้าคุมกำลังทหารไป 800 คน แต่ถูกคนไทยที่มีจิตใจฮึกเหิมว่าเคยรบชนะพม่ามาแล้ว ยกกำลังออกมาไล่ฆ่าฟัน ทหารพม่าไม่ทันตั้งตัวและ อ่อนเพลียจากการเดินทางจึงต้องพ่ายแพ้กลัไป
ครั้งที่ 3 ติงจาโบ เป็นหัวหน้าคุมกำลังทหาร 900 คน แต่ถูกชาวบ้านบางระจัน ไล่ฆ่าฟันล้มตายและทิ้งอาวุธไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้คนไทยได้อาวุธเก็บไว้ใช้มากมาย
ครั้งที่ 4 เนเมียวสีหบดีเริ่มรู้ว่าชาวบางระจันไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาที่ไร้ฝีมือ ดังนั้นจึงสั่งให้สุรินทรจอข้องเป็นหัวหน้าคุมกำลังทหาร 1,000 คน หวังจะปราบ ให้สำเร็จชาวบ้านบางระจันรู้ว่าฝ่ายตนเป็นรองเรื่องกำลังคนจึงออกอุบายแบ่งกำลังเป็น 3 ทางแล้วยกเข้าตีพร้อม ๆ กัน สุรินทรจอข้องหัวหน้าตายในที่รบ นายแท่นหัวหน้าค่าย บางระจันถูกยิงที่หัวเข่า
ครั้งที่ 5 เนเมียวสีหบดีแต่งตั้งให้แยจออากา เป็นหัวหน้ายกมาตีไทย แต่ต้อง พ่ายแพ้กลับไป
ครั้งที่ 6 จิแก เป็นหัวหน้ายกมาตีไทย แต่ถูกไทยตีแตกกลับไปอีก
ครั้งที่ 7 เนเมียวสีหบดีรู้สึกครั่นคร้ามในฝีมือของคนไทยว่าทั้งที่มีกำลังและอาวุธน้อยกว่าแต่ก็สามารถตอบโต้ทหารพม่ากลับมาได้ทุกครั้ง จึงได้คัดเลือกทหารฝีมือดีได้ประมาณ 1,000 คนเศษ จัดให้อากาปันคยีเป็นหัวหน้าคุมพลไปปราบปราม ฝ่ายไทยมีนายจันทร์หนวดเขี้ยวเป็นหัวหน้าเข้าต่อสู้กับทหารพม่าจนอากาปันคยีตายในที่รบ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่ารู้สึกโมโห และ แค้นใจมากที่ไม่สามารถกำจัดคนไทยกลุ่มนี้ได้ แต่กลับต้องสูญเสียไพร่พลและนายทหารฝีมือดีไปในการรบหลายนาย จึงคิดว่าหากปล่อยทิ้งไว้เกรงจะเป็นอุปสรรคเข้าตีกรุงศรีอยุธยา จึงคิดจะกำจัดให้ราบคาบในขณะนั้นสุกี้พระนายกองซึ่งเป็นนายทหารมอญฝีมือดี เฉลียวฉลาด มีฝีมือในการรบเคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทย และรู้จักนิสัยคนไทยดี ได้รับอาสาเป็นแม่ทัพยกเข้ามาปราบปรามชาวบ้านบางระจัน สุกี้พระนายกองรู้ว่าคนไทยเป็นคนกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวและรู้ลู่ทางดี หากตน ยกทัพเข้าตีซึ่ง ๆ หน้าจะไม่สามารถเอาชนะได้ ดังนั้นสุกี้พระนายกองจึงวางแผนการรบและเดินทัพด้วยความสุขุมรอบคอบไม่รีบร้อนพอถึงบ้านบางระจันก็รีบสร้างค่ายทันที ใช้วิธีออกไปตีนอกค่ายแล้วถอยกลับไปสู้อยู่ในค่าย ชาวบ้านบางระจันพยายามเข้าตีค่ายหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ นายทองเหม็น ขี่กระบือเข้าตีค่ายพม่าก็ถูกพม่าฆ่าตาย นายแท่นขุนสรรค์ และนายจันทร์หนวดเขี้ยวกำลังสำคัญของไทยล้วนแต่ต้องตายในสนามรบทั้งสิ้น ชาวบ้านต่างขวัญเสียที่เห็นหัวหน้าของตนต้องล้มตายทีละคนสองคน จึงขอ ปืนใหญ่จากทางกรุงศรีอยุธยามาโต้ตอบกับฝ่ายพม่า
ทางกรุงศรีอยุธยาไม่ส่งมาให้อ้างว่ากลัวพม่าจะมาแย่งชิงระหว่างทาง แต่ได้ส่งพระยารัตนาธิเบศร์มาช่วยหล่อปืนที่บ้าน บางระจัน ชาวบ้านช่วยกันเรี่ยไรเครื่องทองเหลืองจนสามารถหล่อปืนใหญ่ได้สองกระบอก แต่ปืนใหญ่แตกร้าวใช้การไม่ได้เลย พม่าเห็นคนไทยอ่อนล้าจึงถือโอกาสเข้าตีบ้านบางระจันแตกเมื่อเดือน 8 พ.ศ.2309 รวมเวลาต่อสู้กับพม่านานถึง 5 เดือน ชาวบ้านบางระจันทุกคนปักหลักต่อสู้อย่างองอาจกล้าหาญจนตัวตาย พวกเขาอุทิศชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้คงอยู่ วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันยังคงตราตรึงอยู่ในใจของคนไทยตราบนานเท่านาน เพื่อระลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญ รักชาติ ของชาวบ้านบางระจัน ทางราชการจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันขึ้น บนเนินสูงหน้าค่ายบางระจัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น